อันตรายใกล้ตัว 3 ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ ขณะเติมน้ำมัน

อันตรายใกล้ตัว 3 ข้อห้ามที่ไม่ควรทำ ขณะเติมน้ำมัน

28 ต.ค. 2564   ผู้เข้าชม 6,589

เชื่อว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่มักจะทำในขณะกำลังรอเติมน้ำมันในปั๊มน้ำมันอยู่ก็คือ ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาไถโซเชียลมีเดียกันนิดนึง หรืออาจกำลังคิดเพลิน ๆ กับอย่างอื่นอยู่ การหันไปพูดคุยกับคนข้าง ๆ จนทำให้ลืมสังเกตว่ารอบ ๆ สถานีบริการน้ำมันเค้ามีป้ายแจ้งเตือนอะไรบางอย่างอยู่ หรือแม้แต่ป้ายที่เด็กปั๊มเพิ่งนำมาวางที่หน้ากระโปรงรถยนต์ของคุณขณะเติมน้ำมันด้วยเช่นกัน

แล้วป้ายเหล่านี้บอกอะไรให้เรารู้บ้าง?

ป้ายที่ติดอยู่ข้างเสา ป้ายที่ถูกวางไว้บนสุดของตู้จ่ายน้ำมัน และป้ายที่เด็กปั๊มนำมาวางบนรถยนต์ของคุณ นอกจากจะเพื่อแจ้งประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิงที่คุณกำลังเติมอยู่ในขณะนั้น ยังเป็นป้ายแจ้งเตือน อันตราย ที่แนะให้เราควรหลีกเลี่ยงขณะเติมน้ำมัน

เพราะสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งจะมีการติดป้ายเตือนหรือป้ายห้ามไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามก่อประกายไฟ ปิดโทรศัพท์มือถือ และดับเครื่องยนต์ในขณะเติมน้ำมันอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นกฎข้อห้ามที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกเลยก็ว่าได้ หากคุณละเลยอาจกลายเป็นภัยอันตรายใกล้ตัวคุณก็เป็นได้

วันนี้ แพนด้า สตาร์ออยส์ จะมาช่วยคลายข้อสงสัยและชวนปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัยของคุณ และรถยนต์กันค่ะ

1.ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งขณะเติมน้ำมัน

เพราะการดับเครื่องยนต์เป็นสิ่งแรกที่คุณไม่ควรละเลยเลยในขณะเติมน้ำมัน หลายคนอาจคิดเสมอว่าการเติมน้ำมันน่าจะใช้เวลาแค่เดี๋ยวเดียวไม่น่าจะเกิดอันตรายอะไรได้ แต่แท้จริงแล้วมันอันตรายมาก เพราะการที่คุณไม่ดับเครื่องยนต์ระหว่างเติมน้ำมันจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่อาจเกิดประกายไฟระหว่างตัวรถยนต์กับไอน้ำมันที่ระเหยอยู่ในอากาศ ซึ่งบางครั้งเราอาจมองไม่เห็น

ยิ่งถ้าหากรถยนต์มีความร้อนสูงทั้งจากเครื่องยนต์ จากท่อไอเสียที่มีการระเหยโดยรอบ หรือในกรณีที่รถยนต์ของคุณมีชิ้นส่วนบางอย่างเกิดการสึกหรอโดยที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน จนเป็นเหตุให้เกิดความร้อนเป็นไฟลุกไหม้ได้ เช่น สายไฟในห้องเครื่องด้านหน้าเกิดการชำรุดอยู่ในขณะนั้น ซึ่งหากคุณยังไม่ดับรถในขณะเติมน้ำมันก็อาจทำให้เกิดความร้อนจนมีประกายไฟ และทำให้เกิดการลุกไหม้กับไอน้ำมันที่ระเหยอยู่ได้เช่นกัน

หรือไม่ บางทีคุณก็ขาดความระมัดระวัง โดยการเคลื่อนรถยนต์ในขณะที่สายจ่ายน้ำมันยังคาอยู่กับถังน้ำมันรถยนต์ของคุณก็เป็นได้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำให้สายจ่ายน้ำมันหลุดและเกิดการเสียดสีจนมีประกายไฟ และยิ่งถ้าไปโดนกับน้ำมันที่ไหลออกมาจากสายน้ำมันด้วยแล้วล่ะก็ อาจส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้เช่นกัน

 

2.งดสูบบุหรี่หรือก่อประกายไฟในปั๊มน้ำมัน

ข้อห้ามนี้ไม่ใช่แค่ห้ามเฉพาะระหว่างที่คุณกำลังเติมน้ำมันเท่านั้น แต่เป็นข้อห้ามสำหรับทุกพื้นที่ในปั๊มน้ำมันเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่อันตรายและติดไฟได้ง่ายที่สุดคือ ไอระเหยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่รอบ ๆ ปั๊มน้ำมันโดยที่คุณไม่สามารถมองเห็นได้นั่นเอง

งดสูบบุหรี่

นอกเสียจากจะมีจุดบริการในปั๊มน้ำมันแจ้งไว้ชัดเจนว่าให้สามารถสูบบุหรี่บริเวณนั้นได้ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นกันเยอะตามปั๊มน้ำมันรูปแบบใหม่ ที่จะกั้นบริเวณสำหรับสูบบุหรี่ให้แก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ แน่นอนว่าปั๊มน้ำมันจะไม่ถูกกับไฟ ฉะนั้นเศษบุหรี่หรือการก่อให้เกิดประกายไฟใด ๆ ก็ตามจะเป็นตัวนำไปสู่การเกิดไฟไหม้ที่ไหวที่สุดและร้ายแรงที่สุดเช่นกัน

 

3.งดใช้โทรศัพท์มือถือขณะเติมน้ำมัน

คุณเคยได้ยินมาไหมว่า คลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจก่อให้เกิดประกายไฟได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น คลื่นสัญญาณโทรศัพท์แต่อย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดประกายไฟได้ แต่ในขณะที่คุณกำลังใช้งานโทรศัพท์มือถืออยู่นั้นแบตเตอรี่มือถืออาจจะช็อตจนเป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ได้ หรือการทำโทรศัพท์มือถือหล่นต่างหากที่ทำให้เกิดการระเบิด
งดใช้โทรศัพท์

แม้ทั้งสองเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมานี้อาจจะไม่เกิดขึ้นบ่อยก็ตาม แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรละเลย เพราะความเสี่ยงจริง ๆ ของการใช้โทรศัพท์มือถือขณะกำลังเติมน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นก็คือ การเกิดไฟฟ้าสถิตนั่นเอง

 

แล้วไฟฟ้าสถิตเกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือได้อย่างไร?

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า

“โทรศัพท์และสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้ทำให้เกิดไฟไหม้ แต่สัญญาณของมันเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสถิตมากขึ้น จนกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอันตราย

ซึ่งไฟฟ้าสถิตนั้นจริง ๆ แล้วมีอยู่รอบตัวเราและถูกเหนี่ยวนำผ่านอากาศ ส่วนสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นตัวเพิ่มโอกาสเหนี่ยวนำที่จะทำให้ตัวคุณมีไฟฟ้าสถิตเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ถ้าหากในช่วงที่อากาศแห้งมากด้วยแล้วนั้นก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดไฟฟ้าสถิตมากขึ้นตามด้วยเช่นกัน

ซึ่งหากเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีไฟฟ้าสถิตตามร่างกายและยังไม่ได้คายประจุออกเสียก่อน (ด้วยการสัมผัสกับโลหะ เช่น ตัวถังรถเป็นต้น) มันจะถูกถ่ายเทไปยังวัตถุตรงกันข้ามได้ง่ายขึ้น ซึ่งตัวอย่างการเกิดไฟฟ้าสถิตในร่างกายที่คุณน่าจะพบบ่อยที่สุด คือการที่คุณไปโดนแขนหรือตัวของเพื่อนแล้วก็เกิดไฟฟ้าสถิตดัง เปรี๊ยะ! ขึ้นมานั่นเอง

แต่หากกรณีแบบนี้ดันเกิดขึ้นระหว่างที่คุณออกมาอยู่ด้านนอกรถยนต์ของคุณล่ะก็ ไม่ว่าจะแค่ออกมายืดเส้นยืดสายหรือออกไปซื้อของในขณะที่รถยนต์ของคุณกำลังเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการถ่ายเทของไฟฟ้าสถิตในเสี้ยววินาทีนั้นผ่านไอน้ำมัน จนเพลิงไหม้ลุกขึ้นได้ในทันที ตามที่เรามักจะเห็นในข่าวกันอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากโทรศัพท์มือถือที่มีโอกาสสร้างไฟฟ้าสถิตแล้ว อีกสิ่งที่อาจเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ดีก็คือ เสื้อผ้า ที่ทำจากไนลอน ถือว่าเป็นหนึ่งวัสดุที่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่ายมาก ๆ เช่นกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งอันตรายใกล้ตัวคุณมากที่สุด และเป็นสิ่งที่คุณไม่ควรกระทำในขณะที่กำลังเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ เพราะในทุก ๆ ข้อห้ามนั้นล้วนเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงตามมาแบบไม่คาดคิดเลยก็ว่าได้

ป้ายคำเตือน

อ๊ะ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น! แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าการละเลยและฝ่าฝืนกฎในปั๊มน้ำมันนั้น นอกจากจะอันตรายแล้วยังมีโทษถึงจำคุกด้วยนะ เพราะกฎกระทรวงของกรมธุรกิจพลังงาน พ.ศ. 2552 ในหมวดป้องกันเกี่ยวกับการห้ามก่อประกายไฟในสถานีบริการน้ำมัน กำหนดว่า

“สถานีทุกแห่งต้องมีป้ายแจ้งเตือนให้ดับเครื่องยนต์ ปิดโทรศัพท์มือถือ และห้ามสูบบุหรี่ในขณะรับบริการ แต่กรณีโทรศัพท์มือถือได้มีการอนุโลมว่า ไม่ต้องถึงขั้นปิดเครื่อง เพียงแค่ห้ามไม่ให้โทรออกหรือรับสายขณะใช้บริการอยู่เท่านั้น แต่หากคุณฝ่าฝืนสถานีบริการน้ำมันจะมีโทษปรับ 1 แสน หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ”

หากคุณทราบเช่นนี้แล้ว จงอย่าเพิกเฉยต่อคำเตือนและควรปฏิบัติตามคำแนะนำหรือข้อห้ามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและของสถานีผู้ให้บริการน้ำมัน


เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้อง

5 เทคนิคลดต้นทุน ธุรกิจโลจิสติกส์ในยุคโควิด-19
04 มี.ค. 2565

5 เทคนิคลดต้นทุน ธุรกิจโลจิสติกส์ในยุคโควิด-19

สาระน่ารู้
เติมลมยางรถเท่าไหร่ดี ? จึงจะประหยัดน้ำมันและปลอดภัยต่อการเดินทาง
30 ธ.ค. 2564

เติมลมยางรถเท่าไหร่ดี ? จึงจะประหยัดน้ำมันและปลอดภัยต่อการเดินทาง

สาระน่ารู้
เทียบกันชัด ๆ ข้อดี - ข้อเสีย รถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง VS รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
01 ธ.ค. 2564

เทียบกันชัด ๆ ข้อดี - ข้อเสีย รถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิง VS รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

สาระน่ารู้